Hub Net Zero และพันธมิตรร่วมจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ “แนวคิดการออกแบบระบบ Agri-PV การเลือกชนิดพืช/สัตว์ เพื่อการผลิตพลังงานและอาหาร” ระหว่างวันที่ 24-25 เมษายน 2568 เพื่อแนะนำเทคโนโลยี Agrivoltaics หรือ Agriculture photovoltaics (Agri-PV) ซึ่งเป็นแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างคุ้มค่าในการผลิตอาหารควบคู่กับพลังงานสะอาด ตอบรับเป้าหมายการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 60 ท่าน ประกอบด้วยเกษตรกร ผู้ประกอบการ และบุคลากรจากภาคการศึกษา


รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ให้เกียรติกล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของ Agri-PV ในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ
คุณมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอนโยบายด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศไทยและการประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร พร้อมนำเสนอตัวอย่างโครงการของ พพ. เช่น ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์และระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้ดำเนินการแล้วในหลายพื้นที่ พร้อมระบุว่าขณะนี้ พพ. กำลังศึกษาเทคโนโลยี Agri-PV เพื่อจัดทำนโยบายเฉพาะสำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคต


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุสาห์ บุญบำรุง จากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. บรรยายเรื่องการออกแบบ ติดตั้งและประเมินสมรรถนะเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร โดยนำเสนอข้อควรพิจารณาในการออกแบบ เนื่องจากระบบ Agri-PV สร้างร่มเงา และเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเฉพาะพื้นที่หรือเฉพาะจุด (microclimate) ซึ่งอาจเป็นผลดีหรือผลเสียต่อการเจริญเติบโตขึ้นอยู่กับชนิดของพืช ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยการออกแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้าน shading ratio, land equivalent ratio, รูปแบบการติดตั้งแผง PV และระยะห่างระหว่างต้นพืช นอกจากนี้ยังนำเสนอกรณีศึกษาที่ มจธ. เกี่ยวกับระบบ Agri-PV สำหรับการเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็กในโรงเรือนและพื้นที่เปิด


ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ ตันตา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (มทร. ล้านนา) นำเสนอประเด็นการประยุกต์ใช้ Agri-PV เพื่อการผลิตสัตว์น้ำภายใต้ตลาดต้นน้ำ โดยชี้ให้เห็นประโยชน์ของ Agri-PV ในการลดความร้อนที่ตกกระทบต่อบ่อโดยตรงช่วยป้องกันสัตว์น้ำจากความร้อน ลดการระเหยของน้ำ และผลิตพลังงานสะอาดเพื่อใช้กับระบบสูบน้ำและเติมอากาศ พร้อมระบุว่าการผลิตสัตว์น้ำต้นน้ำมีอัตรากำไรสูง จึงเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการนำ Agri-PV ไปใช้ได้มาก


รองศาสตราจารย์ ดร.จานุลักษณ์ ขนบดีจาก มทร. ล้านนา นำเสนอเทคโนโลยีและความท้าทายในการผลิตผัก เนื่องจากระบบ Agri-PV ส่งผลต่อความเข้มแสงและ microclimate ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโต ปริมาณผลผลิต และคุณภาพของผัก จำเป็นต้องออกแบบให้สมดุลระหว่างการผลิตพลังงานและการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน
ดร.กัลยาณี ไพฑูรย์รังสฤษดิ์ จากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค-สวทช.) ปฏิบัติงานที่ มจธ. นำเสนอโครงการวิจัยร่วมระหว่าง ไบโอเทค และ มจธ. ด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก และการประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านอาหาร อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เชื้อเพลิงชีวภาพ การบำบัดน้ำเสีย และการกักเก็บคาร์บอน นอกจากนี้ยังได้นำเสนอโครงการวิจัย Agri-PV สำหรับระบบเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก
ดร.กอบศักดิ์ ศรีประภาจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค-สวทช.) นำเสนอความก้าวหน้าในการวิจัยระบบ PV และ Agri-PV ของเนคเทค รวมถึงผลการศึกษาระบบ Agri-PV ที่ติดตั้ง ณ วัดศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี และที่เนคเทค จังหวัดปทุมธานี
Dr. Matthias Meier จาก Forschungszentrum Jülich GmbH ประเทศเยอรมัน นำเสนอการวิจัยและประยุกต์ใช้ Agri-PV ในต่างประเทศ ประเทศเยอรมัน มีการวิจัยกับพืชหลากหลายชนิด เช่น ถั่วเหลือง ผักโขม และมะเขือเทศ ทั้งในรูปแบบแปลงทดลองที่สถาบันวิจัย Jülich และที่แปลงสาธิตในพื้นที่ของ RWE พร้อมแสดงความเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยในการพัฒนา Agri-PV เนื่องจากมีเศรษฐกิจฐานเกษตรที่เข้มแข็งและเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ชัดเจน



ภายในงานยังมีการนำเสนอตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลินาในเชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศโดยคุณธิติวุฒิ พงศ์ธนไพศาล และคุณกาญจนา ประกอบผล จากสถาบันพัฒนาและฝึกอบรมโรงงานต้นแบบ มจธ. พร้อมบทวิเคราะห์แนวโน้มตลาดผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลินาทั้งในระดับโลกและประเทศไทย โดยเฉพาะการเติบโตของผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์และอาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงปัจจัยสนับสนุนและความท้าทายในตลาดไทย นอกจากนี้ คุณฉัตรชัย งามสม จากบริษัท ช.ตะวันวิศวกิจ จำกัด ได้นำเสนอมุมมองจากบริษัทโซลาร์ในประเทศไทยพร้อมแสดงตัวอย่างโครงการที่บริษัทได้ดำเนินการ
ในวันที่ 25 เมษายน ผู้เข้าร่วมงานได้เยี่ยมชมเทคโนโลยีและระบบต้นแบบจากงานวิจัย ณ มจธ. วิทยาเขตบางขุนเทียน พร้อมพบปะนักวิจัยเพื่อหารือความร่วมมือและการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีการจัดแสดงระบบเพาะเลี้ยงสาหร่ายขนาดเล็ก ระบบ Agri-PV สำหรับเพาะเลี้ยงสาหร่าย โรงงานต้นแบบนวัตกรรมอาหาร เทคโนโลยีการหมัก และผลิตภัณฑ์จากสาหร่ายสไปรูลินา






