ก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคส่วนที่ไม่ใช่พลังงาน (Non-energy) มีสัดส่วนคิดเป็น 1 ใน 3 ของโลก โดยภาคส่วนการปล่อยที่สำคัญ 4 ภาคส่วนได้แก่
1) การใช้ประโยชน์ที่ดินรวมถึงการตัดไม้ทำลายป่า
2) ก๊าซมีเธนและก๊าซไนตรัสออกไซด์จากอุตสาหกรรมปศุสัตว์
3) การสูญเสียคาร์บอนในดิน (Soil Carbon) และ
4) หลุมฝังกลบขยะและน้ำเสีย เช่นเดียวกับมลภาวะทางอากาศ การทำความเข้าใจกับกลไกการเกิดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาเทคโนโลยี/มาตรการป้องกันและการลดก๊าซเรือนกระจกที่มาจากแหล่งเหล่านี้เป็นสาระสำคัญของการศึกษาวิจัยในสาขานี้
ปัจจุบัน มีหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ภัยคุกคามจากการผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเพื่อลดผลกระทบเชิงลบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมาตรการที่สำคัญคือ การปรับตัวต่อการผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของสังคม ขณะเดียวกัน ก็พยายามค้นหาหรือฉกฉวยโอกาสใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยจะต้องมีการปรับนโยบายและการดำเนินการที่สร้างภูมิคุ้มกันและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ ตลอดจนการบูรณาการมาตรการด้านการผันแปรและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์และการวางแผนระดับชาติ
เมื่อเทียบกับประเด็นปัญหาก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากภาคพลังงาน การปล่อยจากส่วนที่ไม่ใช่พลังงาน (Non-energy) ยังมีคนให้ความสนใจค่อนข้างน้อย ความเข้าใจในกลไกต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและมาตรการควบคุมจึงมีจำกัด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนากำลังคนทางด้านนี้ต่อไป