ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งผลิตชีวมวลที่อุดมสมบูรณ์ และเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ชีวมวลมีข้อได้เปรียบที่สามารถทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้โดยตรงและจัดเก็บได้ตามต้องการเพื่อผลิตความร้อน ไฟฟ้า และเชื้อเพลิง ในอนาคตคาดว่าพลังงานชีวภาพจะมีบทบาทมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะภาคส่วนที่ลดคาร์บอนได้ยาก เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ เคมีภัณฑ์ การบิน และการขนส่งทางเรือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพสูงในการใช้พลังงานชีวภาพอย่างยั่งยืนทั้งในแง่ของการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบัน และการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพขั้นสูงเพื่อความยั่งยืนในภาคการขนส่งควบคู่กับการผลิตวัสดุและเคมีชีวภาพ (Biorefinery) ที่สำคัญ การพัฒนาพลังงานชีวภาพที่ยั่งยืนในบริบทของเศรษฐกิจชีวภาพหมุนเวียน (Circular Bioeconomy) ยังเปิดโอกาสให้มีการพัฒนานวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation) เพื่อที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาสังคม ชุมชนในระดับรากหญ้า (Bottom of Pyramid) ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดความเหลื่อมล้ำของรายได้
ดังนั้นประเทศไทยจึงได้กำหนดให้พลังงานชีวภาพ เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมด้านเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มั่นใจว่า มีการเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Transition) ตามแนวทางข้างต้น จะต้องมีกำลังคนสนับสนุนในจำนวนและคุณภาพที่เพียงพอ ซึ่งจากผลสำรวจข้อมูลตำแหน่งงานและสมรรถนะงานที่สำคัญ ซึ่งเป็นที่ต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2563 – 2567) โดยมุ่งเน้นตำแหน่งงานระดับสูงที่ต้องการผู้สำเร็จการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของ สอวช. พบว่าอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Bioenergy & Biochemicals) มีความต้องการกำลังคนรวมเกือบ 10,000 ตำแหน่ง